ชื่อผู้วิจัย สำรวย สุขชัย
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ความสำคัญและความเป็นมา
การวิจัยครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยได้แก่
พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู
นำไปเป็นแนวทางในการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย และการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อปลูกฝังการใช้ทรัพยากรได้อย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตและความเหมาะสมกับวัย
จุดมุ่งหมาย
เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างก่อนและหลังการทดลอง
สมมติฐานในการวิจัย
เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง
ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อมุ่งให้เด็กได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ได้แก่ ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการลงความเห็น โดยจัดการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนเรื่อง
ร่างกายของฉัน ธรรมชาติให้สีสัน ผักและขยะ ที่สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของเด็ก
ภายใต้กรอบแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ความพอประมาณ
ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกัน เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม
ตัวแปรที่ใช้
• ตัวแปรอิสระ : การจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเด็กปฐมวัย
• ตัวแปรตาม : ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
3 ทักษะ คือ
- ทักษะการจำแนกประเภท
- ทักษะการสื่อความหมาย
- ทักษะการลงความเห็น
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
เด็กปฐมวัยชาย – หญิง อายุระหว่าง
5-6 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนวัดยางสุทธาราม เขตบางกอกน้อย สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 27 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง
เด็กปฐมวัยชาย – หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี
กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนวัดยางสุทธาราม แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย
สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร
2. ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง
พฤกติกรรมที่เด็กแสดงออกถึงการเรียนรู้ที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
เพื่อค้นหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ทดสอบได้ด้วยแบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น
ประกอบด้วย 3 ทักษะ คือ
- ทักษะการจำแนกประเภท หมายถึง
ความสามารถในการจัดแบ่งสิ่งของออกเป็นหมวดหมู่
- ทักษะการสื่อความหมาย หมายถึง
ความสามารถในการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการค้นพบและปฏิบัติจริง ด้วยการสังเกต สำรวจ
และทดลองหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยนำมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ
- ทักษะการลงความเห็น หมายถึง
ความสามารถในการสรุปข้อมูลจากที่ได้ค้นพบที่ได้จากการเรียนรู้และอธิบายสิ่งนั้นอย่างมีเหตุผล
3. การจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเด็กปฐมวัย
หมายถึง
การจัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็กภายใต้กรอบแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองและมีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย
เช่น การสำรวจ สังเกต ทดลอง สาธิต
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
2. แบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
การดำเนินกิจกรรม
ผู้วิจัยกำหนดแผนจัดการเรียนรู้ 4 หน่วย
เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ3วัน
จัดเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยของเด็กโดยให้เด็กได้ลงมือกระทำ ปฏิบัติจริง
ได้สำรวจ ทดลอง สนทนาซักถาม อภิปรายและแสดงความเห็นโดยมีกรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
คือ ความพอประมาณ การมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม
เช่น หน่วยขยะแปลงกาย โดยมีวิธีการดังนี้
- เด็กจะนำของเหลือใช้มาประดิษฐ์ของเล่นตามความสนใจ
ได้รู้จักรักษาความสะอาดขยะก่อนนำมาใช้และจะต้องมีความอดทนที่จะประดิษฐ์ให้เสร็จ
- เด็กจะได้ทักษะทางวิทยาศาสตร์
คือ การจำแนกสิ่งที่นำมาใช้ได้
และได้อธิบายลงความเห็นถึงประโยชน์ของขยะที่นำมาประดิษฐ์ของเล่น
การสรุปผลการวิจัย
ระดับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับพอใช้
แต่เมื่อได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วระดับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยอยู่ในระดับที่ดีมากและสูงขึ้นกว่าเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น